
ราชกิจจานุเบกษา เผยพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ คงภาษี VAT อัตราเดิม 6.3% อีก 1 ปี จนถึง 30 ก.ย. 2561 ก่อนจะเริ่มอัตราใหม่ เป็น 9%
เอ๊ะ! หลายคนอาจจะสงสัย ว่า VAT อัตราเดิมนี่ไม่ใช่ 7% เหรอ และอัตราใหม่อยู่ที่ 10% ไม่ใช่หรอ??
ที่เป็น 6.3% นั้นก็เพราะว่าแท้จริงแล้วเรายังต้องเสียภาษีท้องถิ่นอีก โดยใน VAT 7% นั้น จะแบ่งเป็น ภาษีมูลค่าเพิ่ม 90% และ ภาษีท้องถิ่น 10% ซึ่งก็คือ 6.3% + 0.7% = 7% ดังนั้น ถ้าเป็น อัตราใหม่ 9% เมื่อรวมภาษีท้องถิ่นแล้ว ก็จะเป็น 10% (9%+1%) นั่นเอง แปลว่าในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มหรือ VAT นั้น จะแบ่งเป็นรายได้ของสรรพากร 9% และเข้าท้องถิ่น 1%
มาดูอัตรา VAT ที่เคยเปลี่ยนแปลงในประเทศไทยกันดีกว่า
2535 – VAT 7%
เป็นครั้งแรกที่ประเทศไทยเริ่มบังคับใช้ภาษีมูลค่าเพิ่ม ได้มีการตราพระราชกฤษฎีกาลดภาษีลงเหลือ 6.3% บวกจ่ายให้ท้องถิ่นอีก 0.7% ประกาศบังคับใช้การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม 7%
ปี 2540 – VAT 10%
ประเทศไทยเกิดวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง IMF เสนอให้ประเทศไทยขึ้น VAT เป็น 10%
ปลายปี 2540 – VAT 7%
รัฐบาลนายชวน หลีกภัย มีการปรับลดภาษี จาก 10% เป็น 7% หลังจากพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เนื่องจากเกิดปัญหาเศรษฐกิจอย่างหนัก
ปัจจุบัน จนถึง 2560 – VAT 7%
หลังจากปลายปี 2540 ทุกๆ 2 ปี ก็ได้มีการตราพระราชกฤษฎีกาลดภาษีมูลค่าเพิ่มมาเรื่อยๆ
ถ้า VAT ปรับขึ้นจริงๆ จะเกิดอะไรกับเราบ้าง
เนื่องจาก เจ้า VAT เป็นภาษีทางอ้อมที่เรียกเก็บจากผู้ซื้อสินค้าและรับบริการ รวมถึงผู้ประกอบการ ผู้นำเข้า ส่งออก ผู้ผลิต ผู้ให้บริการขายส่ง ขายปลีก นั่นคือใครที่ซื้อสินค้าและรับบริการก็ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มทั้งหมด
หากมีการปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม สิ่งแรกที่ส่งผลกระทบคือ ระดับราคาสินค้าและบริการโดยทั่วไปจะปรับเพิ่มขึ้น ทำให้ผู้บริโภคจับจ่ายใช้สอย (Consumption) ได้ลดลง อาจจะส่งผลให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจหดตัวลงได้
แต่หากมองในมุมของรัฐบาล ที่หลายๆคนคิดว่า รัฐบาลอยากปรับขึ้นภาษีเพราะต้องการมีรายได้ที่เพิ่มขึ้น แต่คำตอบในข้อนี้ก็ไม่ตายตัวเสมอไป เพราะหากราคาสินค้าเพิ่มสูงขึ้น ผู้บริโภคก็จะซื้อสินค้าน้อยลง คราวนี้ก็ขึ้นอยู่กับว่าผู้บริโภคจะซื้อสินค้าลดลงมากหรือน้อย หากผู้บริโภคซื้อสินค้าในปริมาณที่ลดลงมากๆ ถึงแม้อัตราภาษีจะเพิ่ม ยอดรายรับที่ได้จากภาษีมูลค่าเพิ่มตรงนี้ก็จะลดลง
ไม่ว่าอย่างไร พวกเราที่ไม่ว่าเป็นผู้ประกอบการหรือผู้บริโภค รู้อย่างงี้แล้วก็ต้องเตรียมตัวให้พร้อมกับการเปลี่ยนแปลงกันนะครับ
Reference :

Rabbit Account
ครบทุกการจัดการ ให้คุณมากกว่าระบบบัญชีBlog: https://www.rabbitaccount.com/th/article
Facebook: http://facebook.com/rabbitaccount Register Free